ยุคของข้อมูลและสารสนเทศ(information age)

ในระบบสารสนเทศนั้นจะมีการนำข้อมูลต่างๆ มาประมวลผลให้ข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้งาน ในอดีตที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ก็ยังมีเครื่องมืออื่น มาช่วยในการประมวลผลข้อมูลและช่วยในการสร้างผลผลิตได้ จนถึงปัจจุบันได้มีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยประมวลผลข้อมูล ก็ทำให้ระบบสารสนเทศนี้พัฒนาไปได้มากขึ้นช่วยให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น
ในโลกของเราได้มีการนำเครื่องมือมาช่วยในการดำรงชีวิตมากมาย จนในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ หากแบ่งวิวัฒนาการของยุคสารสนเทศจะแบ่งได้ดังนี้
>>> โลกยุคกสิกรรม (Agriculture Age)
ยุคนี้นับตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ.1800 ถือว่าเป็นยุคที่การดำเนินชีวิตของมนุษย์ขึ้นอยู่กับการทำนา ทำสวน ทำไร่ โลกในยุคนี้ยังมีการซื้อขายสินค้าระหว่างกัน แต่ก็เป็นสินค้าเกษตรเป็นหลัก มีการนำเครื่องมือเครื่องทุ่นแรงมาใช้งานให้ได้ผลผลิตดีขึ้น ในระบบหนึ่งๆ จะมีผู้ร่วมงานเป็นชาวนา ชาวไร่ เป็นหลัก
>>> ยุคอุตสาหกรรม (Industrial Age)
ยุคนี้จะนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1800 เป็นต้นมา โดยในประเทศอังกฤษได้นำเครื่องจักรกลมาช่วยงานทางด้านเกษตร ทำให้มีผลผลิตมากขึ้น และมีผู้ร่วมงานในระบบมากขึ้น เริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรม เริ่มมีคนงานในโรงงาน ต่อมาการนำเครื่องจักรกลมาใช้งานนี้ได้ขยายไปสู่ประเทศต่างๆ และได้มีการแปรรูปผลิตผลทางด้านการเกษตรออกมามากขึ้น และเครื่องจักรกลก็เป็นเครื่องมือที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ และเริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งทำให้โลกของเรามีทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมควบคู่กันไป
>>> ยุคสารสนเทศ (information Age)
ยุคนี้จะนับตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ.1957 จากที่การทำงานของมนุษย์มีทั้งด้านเกษตรและด้านอุตสาหกรรม ทำให้คนงานต้องมีการสื่อสารกันมากขึ้น ต้องมีความรู้ ในการใช้เครื่องจักรกล ต้องมีการจัดการข้อมูลเอกสาร ข้อมูลสำนักงาน งานด้านบัญชี จึงทำให้มีคนงานส่วนหนึ่งมาทำงานในสำนักงาน คนงานเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้ที่มีความรู้และต้องทำหน้าที่ประสานงานระหว่างฝ่ายผลิตและลูกค้า ทำให้มีการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ มาช่วยในการประมวลผล จัดการให้ระบบงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น ทำให้เกิดการใช้เครื่องมือทางด้านสารสนเทศขึ้นมา ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีสารสนเทศ เมื่อเข้าสู่ยุคสารสนเทศ องค์กรต่างๆ ที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการงานประจำวัน จะทำงานได้สำเร็จเร็วขึ้น การผลิดทำได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตสามารถประมวลผลข้อมูลต่างๆ ได้เร็วขึ้น มีการนำระบบอัตโนมัติด้านการผลิตมาใช้ มีระบบบัญชี และมีโปรแกรมที่ทำงานเฉพาะด้านมากขึ้น
ข้อมูลและรูปแบบของข้อมูล
ข้อมูล (data) เป็นข้อมูลต่างๆ หรือข้อเท็จจริงที่ยังไม่ได้ผ่านการประมวลผล เช่น ระบบการตัดเกรดของนักศึกษา ข้อมูลจะเป็นคะแนนต่างๆ ของนักเรียนแต่ละคน จากนั้นระบบจะนำคะแนนไปหาคะแนนรวมและตัดเกรดตามเงื่อนไขที่กำหนด แล้วให้เอาต์พุตออกมาเป็นข้อมูลที่ประมวลผลแล้ว เรียกว่าสารสนเทศ
ข้อมูลสามารถแบ่งระัดับได้ดังนี้
1. บิต (Bit : Binary Digit) เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของข้อมูล จะแทนด้วยสัญญาณ "0" หรือ "1" โดยระบบจะนำบิตต่างๆ มาต่อกันจึงสามารถประมวลผลได้ดีขึ้น
2. ตัวอักขระ (Characters) เป็นกลุ่มของบิตข้อมูลที่ใช้แทนตัวอักขระที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้โดยนำบิตมาอ่านรวมกันเป็นไบต์ให้อยู่ในรูปของรหัส ASCII รหัส EBCDIC หรือรหัส Unicode ที่มีขนาดสองไบต์
3. ฟิลด์ (Field) เป็นกลุ่มของไบต์ข้อมูลที่นำมาเรียงต่อกันให้มีความหมายเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบบต้องการ โดยมีชื่อเรียกฟิลด์ (field name) กำกับอยู่ ในการใช้งานผู้ใช้จะต้องกำหนดชนิดของข้อมูลที่อยู่ในฟิลด์ด้วย ฟิลด์แต่ละฟิลด์อาจใช้ประเภทของข้อมูลที่ต่างกัน มีขนาดต่างกัน เช่น ฟิลด์ที่เก็บชื่อข้อมูลประเภทตัวอักษร ฟิลด์ที่เก็บเงินเดือนจะเป็นข้อมูลที่เป็นเลขจำนวนเต็ม เป็นต้น
4. เรคคอร์ด (Record) เป็นกลุ่มของฟิลด์ข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กันมารวมกัน เพื่อแทนข้อมูลสำหรับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยแต่ละเรคอร์ดต้องมีอย่างน้อยหนึ่งฟิลด์ที่บอกความแตกต่างระหว่างเรคคอร์ดนั้น เรียกว่า กุญแจหลัก หรือ คีย์หลัก (primary key) ตัวอย่างเช่น เรคคอร์ดที่เก็บข้อมูลพนักงานแต่ละบุคคล โดยแต่ละเรคคอร์ดประกอบด้วยฟิลด์ที่เป็นชื่อ รหัสประจำตัว เงินเดือน อายุ ทีอยู่ ซึ่งอาจใช้ฟิลด์ที่เป็นรหัสประจำตัวเป็นคีย์หลักก็ได้
5. ไฟล์ (File) หรือแฟ้มข้อมูล เป็นกลุ่มของเรคคอร์ดที่นำมารวมกันให้อยู่ในโครงสร้างเดียวกันสามารถค้นหาข้อมูลได้ง่าย และเก็บไว้ในหน่วยความจำหรือสื่อบันทึกต่างๆ
ขอบคุณที่ทำข้อมูลดีๆให้ผมได้เรียนรู้นะครับ
ตอบลบ